เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คืออะไร มีหน้าที่ดูแลอะไรบ้าง
พนักงานรักษาความปลอดภัย หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นหนึ่งในอาชีพสำคัญที่คอยอำนวยความสะดวก ในการดูแลและปกป้องทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของอาชีพนี้มากนัก วันนี้ ซีคอม เราจะมาอธิบายถึงความสำคัญของอาชีพยามรักษาความปลอดภัยกัน
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คืออะไร
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) คือ บุคคลที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย และความเรียบร้อยในสถานที่ต่าง ๆ โดยมีหน้าที่หลักในการป้องกันอันตราย ดูแลทรัพย์สิน และรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามกฎหมาย
ซีคอมมุ่งมั่นให้การฝึกอบรมแก่พนักงานรักษาความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมั่นใจในสถานการณ์จริง เพื่อให้คุณได้รับความปลอดภัยและความสบายใจสูงสุด
ความสำคัญของพนักงานรักษาความปลอดภัย
พนักงานรักษาความปลอดภัย มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความมั่นใจ และความปลอดภัยให้กับผู้คนในสถานที่ต่าง ๆ นอกจากการป้องกันอาชญากรรม และดูแลทรัพย์สินแล้ว พนักงานรักษาความปลอดภัยยังเป็นด่านแรกในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น อัคคีภัย หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ การมีพนักงานรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดความเสี่ยง และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับทุกคน
พนักงานรักษาความปลอดภัย ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
การเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับลักษณะงาน ดังนี้
- มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์
- มีความซื่อสัตย์ สุจริต และมีความรับผิดชอบสูง
- มีทักษะการสื่อสารที่ดี สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
- ผ่านการฝึกอบรมด้านการรักษาความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด
- มีความตื่นตัว และมีไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
- มีความอดทน และสามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทำหน้าที่อะไรบ้าง
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มีบทบาทสำคัญในการดูแลความปลอดภัย และความเรียบร้อยในสถานที่ต่าง ๆ โดยมีหน้าที่หลัก ดังนี้
1. ควบคุมการเข้า-ออกภายในพื้นที่
หนึ่งในหน้าที่สำคัญของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คือการควบคุมการเข้า-ออกของบุคคล และยานพาหนะในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยจะต้องตรวจสอบบัตรประจำตัว บันทึกข้อมูลผู้เข้า-ออก และตรวจค้นสัมภาระเมื่อจำเป็น เพื่อป้องกันบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าพื้นที่ และป้องกันการนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในพื้นที่
2. เฝ้าระวังและปกป้องทรัพย์สิน
ยามรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่สอดส่องดูแล และปกป้องทรัพย์สินของสถานที่ที่รับผิดชอบ โดยต้องคอยสังเกตความผิดปกติ ป้องกันการโจรกรรม และรายงานเหตุการณ์ที่น่าสงสัยให้ผู้บังคับบัญชาทราบ นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น กล้องวงจรปิด ระบบแจ้งเตือนภัย ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
3. ตรวจตราความเรียบร้อย
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องทำการตรวจตราพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างเรียบร้อยและปลอดภัย โดยอาจต้องเดินตรวจตามจุดต่าง ๆ ตรวจสอบประตู หน้าต่าง และพื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ หากพบสิ่งผิดปกติหรือเหตุการณ์ที่น่าสงสัย จะต้องรายงานและดำเนินการแก้ไขทันที
4. บันทึกและรายงานเหตุการณ์ประจำวัน
การบันทึก และรายงานเหตุการณ์ประจำวัน เป็นหน้าที่สำคัญของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยจะต้องจดบันทึกทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการเข้า-ออกของบุคคลสำคัญ เหตุการณ์ผิดปกติ หรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย รายงานนี้จะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ และปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยต่อไป
5. จับกุมผู้บุกรุกเมื่อประสบเหตุซึ่งหน้า
ในกรณีที่พบเห็นการกระทำผิด หรือการบุกรุกซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำผิดได้ทันที แต่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันทีเพื่อดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม และพนักงานรักษาความปลอดภัยต้องใช้กำลังเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมในการจับกุมเท่านั้น
6. ปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย
นอกจากหน้าที่หลักแล้ว ยามรักษาความปลอดภัยยังต้องปฏิบัติตามคำสั่งพิเศษ ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาหรือผู้ว่าจ้าง ซึ่งอาจรวมถึงการอำนวยความสะดวกในกิจกรรมพิเศษ การรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการให้ความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย และความเรียบร้อยของสถานที่
ควรมียามรักษาความปลอดภัยกี่คนในการดูแลพื้นที่
การกำหนดจำนวนยามรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยทั่วไปมีแนวทาง ดังนี้
- พื้นที่ขนาดเล็ก (เช่น อาคารพาณิชย์ 1-2 คูหา) : อย่างน้อย 1-2 คนต่อกะ
- พื้นที่ขนาดกลาง (เช่น อาคารสำนักงาน 3-5 ชั้น) : อย่างน้อย 2-4 คนต่อกะ
- พื้นที่ขนาดใหญ่ (เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงงาน) : อย่างน้อย 4-8 คนต่อกะ ขึ้นอยู่กับขนาดและความซับซ้อนของพื้นที่
- สถานที่พิเศษ (เช่น สถานทูต ธนาคาร): อาจต้องมีจำนวนมากกว่าและมีการฝึกอบรมพิเศษ
ทั้งนี้ ควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ระดับความเสี่ยง เทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยที่มีใช้ และข้อกำหนดทางกฎหมาย เพื่อกำหนดจำนวนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมที่สุด
ยามกับรปภ. ต่างกันไหม หรือเป็นตำแหน่งหน้าที่เดียวกัน
ยามและรปภ. (เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย) มักถูกใช้สลับกันในการสื่อสารทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้วมีความแตกต่างเล็กน้อย โดย "ยาม" มักหมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังในพื้นที่เฉพาะ ขณะที่ "รปภ." มีขอบเขตหน้าที่กว้างกว่า และผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางมากกว่า อย่างไรก็ตาม ทั้งสองตำแหน่งมีเป้าหมายหลักในการรักษาความปลอดภัยเช่นเดียวกัน
และทั้งหมดนี้ก็เป็นหน้าที่สำคัญของอาชีพ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่ช่วยปกป้อง และดูแลทรัพย์สินอย่างมืออาชีพ ซึ่งทาง SECOM ก็มีบริการในจุดนี้ ที่นอกเหนือจากระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ด้วยทีมงานมืออาชีพ ที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น ที่จะทำงานร่วมกันกับศูนย์บริการฉุกเฉินจากทางซีคอม จึงทำให้คุณอุ่นใจในการดูแลรักษาความปลอดภัยได้อย่างแน่นอน
บทความที่เกี่ยวข้อง
สำหรับ
ลูกค้าใหม่
ติดต่อปรึกษาเกี่ยวกับระบบความปลอดภัย
กรอกข้อมูลเพื่อรับการติดต่อกลับ
เวลาทำการของสำนักงาน
09.00น. - 18.00น.
สำหรับ
ลูกค้าปัจจุบัน
ติดต่อเรื่องการชำระเงินและใบแจ้งหนี้
Copyright © 2024 THAI SECOM SECURITY CO., LTD. All Rights Reserved