Line

apply now

ป้องกันข้อมูลส่วนตัวในโลกออนไลน์ และออฟไลน์อย่างไรให้ปลอดภัย

แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านช่องทางดิจิตอลจะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ง่าย สะดวกสบาย และจัดการกับเรื่องต่างๆได้รวดเร็วมากขึ้น แต่การติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางดิจิตอลนั้น ก็อาจทำให้บุคคลอื่น ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันมีวิธีการพื้นฐานที่หลากหลายในการจัดเก็บข้อมูลของเราให้ปลอดภัย จะมีวิธีใดบ้าง ไปติดตามกันเลยค่ะ


จัดการความปลอดภัยด้วยวิธีออนไลน์


1. สร้างรหัสผ่านที่รัดกุม

สำหรับการสร้างรหัสผ่าน ควรตั้งรหัสที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าการใช้คำหรือตัวเลขที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เช่น วันเกิดของคุณ ควรใช้ตัวอักษรตัวพิมพ์เล็กและตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวเลข และสัญลักษณ์ รวมถึงควรเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างสม่ำเสมอด้วย

2. อย่าแชร์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดียมากเกินไป

การโพสต์รายละเอียดส่วนตัวทางออนไลน์มากเกินไปไม่เพียงแต่สร้างความรำคาญเท่านั้น แต่ยังทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณตกอยู่ในความเสี่ยงอีกด้วย ควรตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของคุณว่าใครสามารถเห็นโพสต์ของคุณได้บ้าง รวมทั้งควรระมัดระวังเมื่อต้องโพสต์เกี่ยวกับ ตำแหน่งที่อยู่ วันเกิดหรือรายละเอียดส่วนตัวอื่น ๆ ด้วย

3. ใช้ Wi-Fi ฟรีอย่างความระมัดระวัง

เครือข่าย Wi-Fi สาธารณะที่ให้ใช้ฟรีส่วนใหญ่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ค่อยดีนัก ผู้อื่นที่ใช้เครือข่ายเดียวกันอาจสามารถเข้าถึงกิจกรรมของคุณได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นควรรอจนกว่าคุณจะอยู่ที่บ้านหรือใช้เครือข่ายที่ปลอดภัยและมีการป้องกันด้วยรหัสผ่านก่อนที่จะทำธุรกรรมการเงินแบบออนไลน์ใดๆ

4. ระวัง Link และไฟล์แนบ

มิจฉาชีพมักจะสร้างกลลวงให้ดูเหมือนเป็นการติดต่อสื่อสารที่ถูกต้องตามกฎหมายจากธนาคาร บริษัทสาธารณูปโภค หรือนิติบุคคลอื่นๆ หากว่าอีเมลนั้นมีบางสิ่งที่ผิดสังเกตุ เช่น การสะกดคำผิดหรือมีที่อยู่อีเมลที่แตกต่างจากผู้ส่งทั่วไป อาจเป็นเบาะแสว่าอีเมลนั้นเป็นสแปม คุณไม่ควรคลิกหรือตอบสนองข้อความใดๆ กับข้อมูลนั้น

5. ตรวจสอบดูว่าเว็บไซต์นั้นปลอดภัยหรือไม่

ก่อนป้อนข้อมูลส่วนบุคคลลงในเว็บไซต์ ให้ดูที่ด้านบนสุดของเบราว์เซอร์ของคุณ หากมีสัญลักษณ์แม่กุญแจและ URL ขึ้นต้นด้วย “https” แสดงว่าไซต์นั้นปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่น ๆ อีกสองสามวิธีที่จะช่วยในการตัดสินใจว่าไซต์นั้นเชื่อถือได้หรือไม่ เช่น นโยบายความเป็นส่วนตัวของเว็บไซต์ ข้อมูลติดต่อ หรือตราประทับ "ยืนยันแล้วปลอดภัย"


จัดการความปลอดภัยด้วยวิธีออฟไลน์


1. เก็บสำเนาเอกสารสำคัญ

สำหรับเอกสารสำคัญ คุณควรจะต้องสแกนเอกสารเก็บไว้ด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าคุณมีทั้งเอกสารที่เป็นตัวจริงและตัวสำรองเก็บอยู่

2. ปิดเครื่องทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน

ทุกครั้งที่คุณใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ เสร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกล้อง มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งกล้องที่ติดกับคอมพิวเตอร์ของคุณ รวมถึงการเชื่อมต่อบลูทูธ ก็ควรจะต้องปิดทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน เพราะการเปิดสิ่งเหล่านี้ทิ้งไว้จะกลายเป็นช่องทางที่ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกขโมยได้ง่าย

3. ใช้ระบบล็อคบ้านแบบ Smart Home

การใช้กุญแจล็อคแบบเดิม ๆ บางครั้งอาจจะง่ายต่อการงัดแงะ คุณสามารถลองใช้วิธีการล็อคบ้านแบบใหม่ด้วยระบบสมาร์ทล็อคที่มีระบบความปลอดภัยมากขึ้น เช่น การใช้ระบบลายนิ้วมือ หรือการใช้ระบบรหัสตัวเลขในการปลดล็อคประตูบ้าน

4. อย่าให้ข้อมูลใด ๆ กับธนาคารหรือบริษัทอื่น ๆ ที่โทรหาคุณในทันที ให้แจ้งว่าต้องการติดต่อกลับในภายหลัง จากนั้นให้คุณค้นหาข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลที่โทรเข้ามาจาก Google ด้วยตัวเองดูก่อนว่าอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นการติดต่อจากมิจฉาชีพหรือไม่

5. ทำลายเอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคล เช่น สลิปเงินเดือน ใบแจ้งยอดธนาคาร ใบแจ้งหนี้ค่าสาธารณูปโภค


ทั้งหมดนี้คือวิธีการง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวทั้งในโลกออนไลน์ และออฟไลน์ ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะคะ!